ปลาพระราชทานจากในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระราชดำริเผยแพร่อาหารโปรตีนราคาถูกให้ประชาชนได้รับประทาน เพราะคนในถิ่นทุรกันดาร ภาคอีสาน ไม่ค่อยมีอาหารโปรตีนรับประทาน ซึ่งอาจมีผลต่อการเจริญเติบโตได้
ใครเป็นสายกินปลาคงรู้จักปลานิลเป็นอย่างดีแน่นอน เพราะในปัจจุบันปลานิลมีวางจำหน่ายแทบทุกตลาดในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นในห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ หรือตลาดท้องถิ่นขนาดเล็กก็ตาม เห็นได้ชัดว่าปลานิลเป็นปลาที่หากินง่าย แถมราคายังถูกด้วยนะคะ วันนี้กระปุกดอทคอมเลยถือโอกาสนำเสนอประโยชน์ของปลานิล อาหารเพื่อสุขภาพอย่างหนึ่งที่อยากให้ทุกคนได้รับประทาน โดยจะเริ่มจากการเล่าประวัติความเป็นมาของปลานิลให้ได้รู้จักปลาน้ำจืดชนิดนี้กันก่อน
ปลานิล ประเทศไทยเราไม่เคยมีปลานิลมาก่อน กระทั่งเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศมกุฏราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้น้อมเกล้าฯ ถวายปลาน้ำจืดในตระกูลทิลาเปีย (Tilapia) จำนวน 50 ตัว แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประเทศไทยจึงมีปลาน้ำจืดชนิดนี้เป็นครั้งแรก
โดยในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำปลาดังกล่าวไปเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ บริเวณหลังพระตำหนักสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต และพระราชทานชื่อปลาชนิดนี้เป็นภาษาไทยว่า “ปลานิล” ซึ่งมาจากลักษณะของปลาที่มีสีออกดำ หรือสีนิล อีกทั้งยังเข้ากับชื่อแม่น้ำไนล์ (Nile) ซึ่งที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของปลาชนิดนี้ ที่สำคัญพระองค์พระราชทานชื่อปลาเป็นชื่อที่สั้น มีความหมายชัดเจน เพื่อให้ง่ายแก่การจดจำสำหรับประชาชนทั่วไปอีกด้วย
ปลานิล
ภาพจาก กองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง
ในระยะแรกนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงทดลองเลี้ยงปลาทั้ง 50 ตัวด้วยพระองค์เอง ต่อจากนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายปลาลงเลี้ยงในบ่อดิน ซึ่งเพียงแค่ 5 เดือนเศษ ปรากฏว่าในบ่อที่เลี้ยงมีลูกปลาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดบ่อดินเพิ่มขึ้นเป็น 6 บ่อ และเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2508 ก็ได้ทรงปล่อยปลาลงเลี้ยงในบ่อเหล่านั้นด้วยพระองค์เอง หลังจากนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่กรมประมงทำการตรวจสอบการเจริญเติบโตของปลาทุกเดือน ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่า ปลาชนิดนี้เจริญเติบโตได้รวดเร็วมาก
เมื่อได้ทรงทราบว่าปลานิลเติบโตและขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วในประเทศไทย ในวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2509 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานลูกปลาดังกล่าว ขนาดความยาว 3–5 เซนติเมตร จำนวน 10,000 ตัว จากบ่อดินในบริเวณพระตำหนักสวนจิตรลดา แก่กรมประมงเพื่อนำไปขยายพันธุ์ ณ แผนกทดลองและเพาะเลี้ยงในบริเวณเกษตรกลางบางเขน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสถานีประมงต่าง ๆ อีก 15 แห่งทั่วราชอาณาจักร เพื่อให้ดำเนินการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์พร้อมกัน จากนั้นเมื่อปลานิลแพร่ขยายพันธุ์ออกไปได้มากเพียงพอแล้ว กรมประมงจึงได้แจกจ่ายพันธุ์ปลานิลให้แก่ราษฎรเพื่อนำไปเพาะเลี้ยงตามความต้องการ โดยกรมประมงได้กำหนดให้วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2510 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดระยะเวลา 1 ปี 5 เดือน นับตั้งแต่วันที่กรมประมงได้รับพระราชทานปลานิลมาเป็นวันแจก “ปลานิลพระราชทาน” ให้แก่ราษฎร
ปลานิล
ภาพจาก กองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง
กรมประมงจะแจกจ่ายพันธุ์ปลานิลที่ทรงเพาะไว้แก่ราษฎรเป็นประจำทุกเดือน กระนั้นจำนวนพันธุ์ปลานิลที่ได้ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของพสกนิกรที่ต้องการนำพันธุ์ปลาชนิดนี้ไปเพาะเลี้ยง กระทั่งความทราบถึงใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดบ่อขนาดใหญ่ในสวนจิตรลดาเพื่มขึ้นอีก 1 บ่อ เพื่อช่วยเร่งผลิตพันธุ์ปลานิลให้เพียงพอแก่ความต้องการของพสกนิกรของพระองค์ต่อไป
ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 จึงได้ทำการปรับปรุงบ่อให้มีขนาดใหญ่ขึ้นแต่จำนวนลดลงเหลือเพียง 7 บ่อ และได้ใช้ในการผลิตพันธุ์ปลานิล ซึ่งนับว่าเป็นปลานิลสายพันธุ์แท้พันธุ์หนึ่งซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกในนามว่า “ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา” และนับตั้งแต่นั้นมา ประเทศไทยเราก็มีปลานิลรับประทานอยู่ทั่วทุกหัวระแหง สนองพระราชดำริเผยแพร่อาหารโปรตีนราคาถูกให้ประชาชนได้รับประทาน เพราะคนในถิ่นทุรกันดาร โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่ค่อยมีอาหารโปรตีนรับประทาน ซึ่งอาจมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ โดยเฉพาะปัญหาด้านการเจริญเติบโต
อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงไม่โปรดเสวยปลานิล โดยพระองค์ท่านเคยตรัสว่า “ก็เลี้ยงมันมาเหมือนลูก แล้วจะกินมันได้
ปลานิลเป็นปลาน้ำจืดที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ลุ่มแม่น้ำไนล์ ทวีปแอฟริกา ปลานิลมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Nile Tilapia และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oreochromis niloticus (Linn.) ปลานิลเป็นปลาในวงศ์ Cichlidae มีรูปร่างคล้ายปลาหมอเทศ โดยมีริมฝีปากบนและล่างเสมอกัน แตกต่างกันเพียงปลานิลมีลายสีดำและจุดสีขาวสลับกันไป บริเวณครีบหลัง ครีบก้น และลำตัวมีสีเขียวปนน้ำตาล ตรงกลางเกล็ดมีสีเข้ม มีลายดำพาดขวางกลางลำตัว ที่กระดูกแก้มมีจุดสีเข้มอยู่ 1 จุด ขนาดความยาวของตัวปลานิลจะอยู่ประมาณ 10-30 เซนติเมตร
ปลานิลมีคุณลักษณะพิเศษคือกินอาหารได้ทุกชนิด เช่น ไรน้ำ ตะไคร่น้ำ ตัวอ่อนของแมลง และสัตว์น้ำเล็ก ๆ เป็นปลาที่แพร่ขยายพันธุ์ง่าย มีรสชาติดี มีความอดทนและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี ณ ปัจจุบันปลานิลจึงอยู่ได้ทั้งตามแหล่งธรรมชาติ และถูกนำไปเลี้ยงในบ่อเพาะเลี้ยง กลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญของไทย และยังเป็นปลาน้ำจืดที่คนไทยบริโภคมากที่สุดอีกด้วย
ด้วยพระปรีชาสามารถและสายพระเนตรอันยาวไกลที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเห็นว่า ปลานิลเป็นปลาที่ทนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมได้ดี เลี้ยงง่าย เติบโตเร็ว น่าจะเอื้อประโยชน์ต่อพสกนิกรของพระองค์ท่านได้อีกมากมาย จึงทรงส่งเสริมให้มีการเพาะพันธุ์และแจกจ่ายแก่ราษฎร ด้วยพระมหากรุณาธิคุณและพระราชวินิจฉัยในครั้งนั้น ทำให้ทุกวันนี้ประชาชนทั่วประเทศไทยมีปลานิลเป็นอาหารเพื่อสุขภาพราคาถูกรับประทาน รวมทั้งเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนผู้เพาะเลี้ยงปลานิลอีกด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ
เอ วีรภัทร
สำนักข่าว สวัสดีนิวส์