เปิดตำนานพระเมรุมาศ

542

วันนี้พสกนิกรไทยทุกคนเตรียมตัวเตรียมใจร่วมส่งเสด็จ พระบาท สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพที่จะมีขึ้นในวันที่ 26 ตุลาคมพรุ่งนี้ วันนี้ตั้งแต่เวลา 05.00 น. เจ้าหน้าที่จะเปิดให้ประชาชนเข้าไปจองพื้นที่ชั้นใน เพื่อชมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ

การจัดสร้าง พระเมรุมาศ เพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระมหากษัตริย์ มีมาตั้งแต่สมัย กรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีการสร้างพระเมรุมาศอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อเป็นเครื่องแสดงพระเกียรติยศที่สืบทอดกันมา สะท้อนให้เห็นถึงความศรัทธา ความเคารพอย่างสูงในสถาบันพระมหากษัตริย์ จากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน

คำว่า “เมรุ” นั้น สมเด็จพระเจ้าพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงวินิจฉัยและให้ความหมายใน สาส์นสมเด็จ ฉบับวันที่ 3 มีนาคม พุทธศักราช 2476 ว่า “เมรุ เห็นจะได้ชื่อมาจาก การปลูกปราสาทอันสูงใหญ่ ท่ามกลางปราสาทน้อยขึ้นตามทุกมุมทิศ มีโขลนทวาร (โคปุระ) ชักระเบียงเชื่อมถึงกัน ปักราชวัติล้อมเป็นชั้นๆ มีลักษณะดุจเขาพระสุเมรุ ตั้งอยู่ท่ามกลาง สัตบริภัณฑ์ล้อม จึงเรียกว่า พระเมรุ ทีหลังทำย่อลง แม้ไม่มีอะไรล้อม เหลือแต่ยอดแหลมๆก็คงเรียกว่า เมรุ”

พล.ร.ต.สมภพ ภิรมย์ ราชบัณฑิต ได้ให้ความหมายของคำว่า พระเมรุมาศ กับ พระเมรุ ไว้ว่า พระเมรุมาศ คือพระเมรุขนาดสูงใหญ่ มีลักษณะเป็นกุฎาคาร หรือ เรือนยอด หมายถึงเรือนที่หลังคาต้องเป็นยอดแหลม พระเมรุมาศสมัยโบราณ นิยมสร้างเป็นยอดปรางค์ มีพรหมพักตร์หรือไม่ก็ได้ ภาษาสามัญจะเรียกว่า ทรงฝักข้าวโพด หรือ ทรงต้นกระบองเพชร โดยพระเมรุมาศนี้จะเป็นเสมือนโรงราชพิธีพระบรมศพทั้งมวล คือเป็นสถานที่พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม สดับปกรณ์ เลี้ยงพระ และเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์ รวมทั้งข้าราชบริพารที่มาในงานพระบรมศพ

พระเมรุมาศ เป็นอาคารป้องกันแดดฝนให้แก่ พระเมรุทอง พระเมรุมาศใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพสำหรับ การตาย ที่ใช้ราชาศัพท์ว่า สวรรคต เช่น พระมหากษัตริย์ พระอัครมเหสี พระบรมราชินี พระราชชนนี พระบวรราชเจ้า และพระบรมโอรสาธิราช เป็นต้น

ส่วน พระเมรุ มีลักษณะทั่วไปเช่นพระเมรุมาศ แต่ขนาดเล็กลง ไม่มีพระเมรุทอง ใช้สำหรับราชวงศ์ที่ทรงฐานานุศักดิ์ เมื่อตายใช้คำราชาศัพท์ว่า ทิวงคต หรือ สิ้นพระชนม์

การสร้าง พระเมรุ พระเมรุมาศ ได้รับอิทธิพลมาจาก พระพุทธศาสนา และ พราหมณ์ ในทางพระพุทธศาสนานั้น ยึดถือคติไตรภูมิ ตามความเชื่อในศาสนาพุทธที่กล่าวถึง เขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของภูมิทั้งสาม ในเขตเขาพระสุเมรุจะมี ป่าหิมพานต์ เป็นที่อยู่ของสัตว์นานาพันธุ์ ล้อมด้วยเขาสัตบริภัณฑ์ ได้แก่ ยุคนธร ที่ทรงไว้ของพระอาทิตย์และพระจันทร์ อิสินธร ทิพยวิมานของมหิสสรเทวบุตร กรวิก ที่อาศัยของนกกรวิก สุทัสนะ ที่เกิดของว่านยาวิเศษ เนมินธร ที่เกิดของปทุมชาติขนาดใหญ่ วินันตกะ ที่อยู่ของมารดาพญาครุฑ และ อัสกัณณะ ที่เกิดของไม้กำยาน เขาสัตบริภัณฑ์นี้จะล้อมรอบเป็นวงกลมเป็นชั้นๆ มีความสูงลดหลั่นกันไป

ระหว่างเขาสัตบริภัณฑ์จะกั้นด้วย มหานทีสีทันดร ถัดจากเขาอัสกัณณะ ซึ่งมีความสูงน้อยที่สุดออกมาเป็น โลกสมุทร หรือ ทะเลน้ำเค็ม ในโลกสมุทรมีเกาะหรือทวีปอยู่ตรงทิศทั้งสี่ของเขาพระสุเมรุ คือ อุตรกุรุทวีป ทางทิศเหนือ บุรพวิเทหทวีป ทางทิศตะวันออก ชมพูทวีป ทางทิศใต้ อมรโคยานทวีป ทางทิศตะวันตก ทั้งหมดนี้ล้อมรอบด้วยเขาจักรวาล หรือกำแพงจักรวาล มีพระอาทิตย์ พระจันทร์โคจรรอบเขาพระสุเมรุ เหนือพระสุเมรุขึ้นไปมี ไพชยนต์ปราสาท ตั้งอยู่ กลางสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีนครชื่อ นครไตรตรึงษ์ มี พระอินทร์ เป็นผู้ปกครองทำหน้าที่เป็นผู้อภิบาลโลก และพิทักษ์คุณธรรมให้แก่มนุษย์

SAWASDEENEWS

0%
Comments
Loading...