วันที่ 6 มีนาคม 2561
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จไปยังศูนย์ประชุมสหประชาชาติ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ทรงร่วมประชุมระดับสูง ว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน การป้องกันอาชญากรรม และสังคมที่ปลอดภัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC หรือ ยูเอ็นโอดีซี) และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ หรือทีไอเจ) จัดการประชุมระดับสูง ในหัวข้อ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน การป้องกันอาชญากรรม และสังคมที่สงบสุข” ขึ้น
แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับแนวปฏิบัติด้านการป้องกันอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และการวางนโยบายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับหน่วยงานด้านยุติธรรมและความมั่งคงสาธารณะด้วย โดยมีผู้แทนประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ระดับสูง และผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันวาระแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน สองพันสามสิบ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวน 250 คน เป็นการเสวนาหลักนิติธรรมและความท้าทายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใจ้ ว่าด้วยเรื่อง หลักนิติธรรมและความท้าทายจากอาชญากรรมรูปแบบต่างๆ ที่ดำเนินมาอย่างช้านานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ , อะไรคือข้อกีดขวางไม่ให้คนกลุ่มต่างๆ รวมถึงกลุ่มเปราะบางเข้าถึงความยุติธรรมในอาเซียนและความท้าทายในการสร้างสถาบันที่มีประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบซึ่งเป็นพื้นฐานในการสร้างหลักนิติธรรมในสังคม
นายยูรี่ เฟโดทอฟ ผู้อำนวยการบริหารสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) กล่าวชื่นชมพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทูตสันถวไมตรีด้านหลักนิติธรรมสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากจะทรงเป็นนักกฎหมายและพนักงานอัยการแล้ว ยังมีความสนพระทัยและทรงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมหลักนิติธรรม อีกทั้งยังทรงทุ่มเทปฏิบัติพระภารกิจเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส อันนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งในประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โอกาสนี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา มีพระดำรัส ความสำคัญตอนหนึ่งว่า “เป็นที่ทราบกันอยู่โดยทั่วไปว่า ผู้ปฏิบัติงานด้านการอำนวยความยุติธรรม ฝ่ายความมั่นคง ผู้กำกับกติกาบ้านเมือง และผู้ปฏิบัติงานด้านการพัฒนา มีแนวโน้มที่จะต่างฝ่ายต่างปฎิบัติหน้าที่ของตนไป ในลักษณะที่แยกส่วนจากกัน ในขณะที่หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมตลอดจนหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ก็มักจะไม่ได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับวาระในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจหรือสังคม การประชุมในครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสอันดี ที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างหลักนิติธรรมกับการพัฒนาอย่างยังยืน ทั้งแสดงให้เห็นว่ายุคสมัยได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วในทางที่ดีขึ้น”
การประชุมเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีผู้เชี่ยวชาญระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ ที่มีบทบาทภารกิจด้านการป้องกันอาชญากรรม และการเสริมสร้างสังคมที่ปลอดภัย โดยเน้นกลุ่มบุคลากรที่อาจยังไม่เคยได้ตระหนักว่าบทบาทหรือภารกิจของตนนั้นเป็นปัจจัยเกื้อหนุนต่อการพัฒนา