สมเด็จพระเทพ เสด็จฯงานครบรอบ 101 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

1,160

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยัง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ทรงวางพุ่มดอกไม้และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราช และสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า

ทรงบาตรพระสงฆ์ 60 รูป จากวัดปทุมวนาราม และวัดพระยายัง ร่วมกับ ผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร นิสิตเก่า และนิสิตปัจจุบัน เนื่องในวันครบ 101 ปี (หนึ่งร้อยเอ็ดปี) แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งขึ้น ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริขยายการศึกษาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น และพระราชทานชื่อว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เพื่อเป็นพระราชอนุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบัน เป็นสถาบันอุดมศึกษาอันดับต้น ๆ ของประเทศไทยในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ โดยได้บุกเบิกองค์ความรู้ใหม่ สร้างสรรค์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมต่าง ๆ รวมทั้งอนุรักษ์และส่งเสริมด้านศิลปวัฒนธรรม เพื่อสังคมและประเทศชาติ

พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ผู้บริหาร ผู้แทนคณาจารย์ บุคลากร นิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบันจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เฝ้าทูลละอองพระบาท ถวายพระพรและทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายของที่ระลึก เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันที่ 2 เมษายน 2561 ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ โดยของที่ระลึก ที่ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย มีหนังสือชุด จุฬาฯ 100 ปี (หนึ่งร้อยปี) : ศิลป์ในศาสตร์ บนเส้นทางแห่งการเสาะหาวิชา หนังสือ ตำราวิชาการ และงานวิจัย ผลงานของคณาจารย์ นักวิจัย และหน่วยงานต่าง ๆ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทอดพระเนตรการแสดงวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ในเพลงโหมโรงมหาจุฬาลงกรณ์ ซึ่งใช้บรรเลงเปิดรายการเพื่อวันสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โอกาสนี้ ทรงระนาดเอก ร่วมกับวงบ้านปลายเนิน ในเพลงพระเจ้าลอยถาด อีกทั้ง ทรงขับร้องและทรงระนาดเอก ร่วมกับวงสายใยจามจุรี ในเพลงภาษาพาสนุก ซึ่งเป็นบทเพลงที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเลือกสำเนียงเพลงภาษาต่าง ๆ จำนวน 12 ภาษา มาทรงพระราชนิพนธ์ ประกอบด้วย เพลงสำเนียงไทย ลาว เขมร จีน มอญ แขก ญี่ปุ่น ญวน ตะลุง พม่า ชวา และฝรั่ง
จากนั้น ทอดพระเนตรละครดึกดำบรรพ์ เรื่อง สังข์ทอง ตอน ถอดรูป ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ สืบทอด เผยแพร่ศิลปะและวิชาการ ของดนตรีไทย ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ให้คงอยู่สืบไป

0%
Comments
Loading...