สมเด็จพระสังฆราช ทรงเปิดการประชุมชาวพุทธนานาชาติ

สมเด็จพระสังฆราช, ทรงเปิดการประชุม,ชาวพุทธ,นานาชาติ

460

เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จไปมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทรงเปิดการประชุมชาวพุทธนานาชาติ เนื่องในเทศกาลวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำพุทธศักราช ๒๕๖๑

โอกาสนี้ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระสัมโมทนียกถา ความตอนหนึ่งว่า

“ในนามของคณะสงฆ์ไทย ขอต้อนรับท่านพระเถรานุเถระ ตลอดจนพุทธศาสนิกชนนานาชาติ ที่มาร่วมการประชุมชาวพุทธนานาชาติ เนื่องในเทศกาลวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำพุทธศักราช ๒๕๖๑ ในวันนี้ ด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่ง

ในโอกาสอันเป็นมงคลนี้ ใคร่ขอปรารภข้อคิดบางประการต่อท่านทั้งหลายว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระมหากรุณาประทานหนทางพัฒนามนุษย์ ให้ก้าวสู่ความหลุดพ้นจากห้วงทุกข์อย่างถาวรไว้ เรียกว่า ‘อริยอัฏฐังคิกมรรค’ หรือที่ทราบกันโดยทั่วไปว่ามรรค ๘ อันมี ‘สัมมาทิฐิ’ เป็นธรรมประการต้น

คำว่า ‘ทิฐิ’ หมายถึงความเห็นต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด อันเป็นสิ่งนำพา ครอบงำ และมีบทบาทในวิถีชีวิตของแต่ละคน ซึ่งอาจเป็นทางรุ่งเรืองหรือทางเสื่อมถอย ถ้าเป็นความเห็น ความเชื่อที่ถูกต้อง เรียกว่า ‘สัมมาทิฐิ’ ส่วนถ้าเป็นความเห็น ความเชื่อที่ผิด เรียกว่า ‘มิจฉาทิฐิ’

ถ้าจะเปรียบกับภาษาทางโลก ที่ใช้ในการบริหารงาน และการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ อาจเทียบได้กับคำว่า ‘ทัศนคติ’ กล่าวคือ การจะพัฒนาตน พัฒนาองค์กร หรือพัฒนาสังคมให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นได้นั้น จำเป็นต้องมีทัศนคติที่ดีและถูกต้องต่อการพัฒนาเป็นเบื้องต้นเสียก่อน หากมีทัศนคติที่ติดลบ หรือมีทัศนคติที่ผิดพลาดแล้ว ก็ย่อมจะไม่สามารถดำเนินงานพัฒนาไปสู่เป้าหมายได้อย่างถูกทิศทาง เสมือนนายเรือผู้หมายใจจะพาเรือมุ่งไปทางทิศเหนือ แต่กลับตั้งหางเสือผิดไปสู่ทิศใต้ เรือลำนั้นย่อมหลงวนเวียนอยู่ ไม่มีวันถึงจุดหมาย หรือกว่าจะพาหมุนกลับมาให้ถูกทิศทางได้ ก็ต้องเสียเวลาเนิ่นช้าไปโดยเปล่าประโยชน์

บุคคลผู้ปรารถนาจะพัฒนาตนตามหลักพระพุทธศาสนา จำเป็นต้องอบรมปัญญาบนรากฐานแห่ง ‘สัมมาทิฐิ’ ซึ่งหมายถึงความเห็นชอบในอริยสัจ ๔ ประกอบด้วยการรู้แจ้งในความทุกข์ รู้แจ้งในต้นเหตุแห่งทุกข์ รู้แจ้งในความดับทุกข์ และรู้แจ้งในแนวทางแห่งการดับทุกข์

วันวิสาขบูชาอันเป็นวันคล้ายวันที่พระโพธิสัตว์ทรงรู้แจ้งอริยสัจ ๔ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเป็นอุดมสมัยที่ชาวพุทธทั้งหลายจักได้น้อมนำพระพุทธธรรมมาเป็นเครื่องพัฒนาอบรมตน ให้บรรลุถึงความเป็นผู้มีสัมมาทิฐิอย่างแท้จริง อันเป็นมูลฐานของการพัฒนาไปสู่เป้าหมายสูงสุดแห่งพระพุทธศาสนา และจักสามารถเพิ่มพูนสันติภาพในโลกนี้ให้ไพบูลย์สืบไป”

80%
Awesome
  • Design
Source สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช
Comments
Loading...