ศาลฎีกายกฟ้องคดีคสช.ยึดอำนาจฐานกบฎ!!

ศาลฎีกายกฟ้องคดีคสช.ยึดอำนาจฐานกบฎ

1,135

วันที่ 22 มิถุนายน 2561 เวลา 09.30 น.
ศาลฎีกาได้ออกนั่งบัลลังก์ที่ห้องพิจารณา 907 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีดำ อ.1805/2558 ที่ นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ, นายสิรวิชญ์ หรือจ่านิว เสรีธิวัฒน์, นายอานนท์ นําภา อาชีพทนายความ กับพวกรวม 15 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย, พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง, พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว และ พล.อ.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ฐานผิดความมั่นคงต่อรัฐ ร่วมกันกบฏ ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ หรือล้มล้างอำนาจการปกครองโดยใช้กำลังประทุษร้าย ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบเป็นกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 และ 114

โดยโจทก์ ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ระบุพฤติการณ์ว่า เมื่อระหว่างวันที่ 20-24 พฤษภาคม 2557 จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้กำลังขู่เข็ญประทุษร้ายและล้มล้างเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 สิ้นสุดลง ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ อันเป็นความผิดฐานกบฏ และพวกจำเลยยังได้ออกคำสั่งในนาม คสช.หลายฉบับ อันเป็นการละเมิดสิทธิ์และเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน ทำให้โจทก์ทั้ง 15 คนได้รับความเสียหาย

ศาลฎีกาประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว ที่จำเลยฎีกาว่ามาตรา 47, 48 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 บัญญัติเพื่อนิรโทษกรรม คสช. เป็นการออกกฎหมายรับรองการกระทำความผิด มีสภาพเป็นกฎเกณฑ์ที่ขัดต่อเสียงแห่งมโนธรรมและหลักการพื้นฐานแห่งความยุติธรรมของมนุษยชาติอย่างชัดแจ้งนั้น

ศาลฎีกาเห็นว่า สภาพของรัฐใดรัฐหนึ่งประกอบด้วยดินแดนที่แน่นอน ประชาชน รัฐบาล และอำนาจอธิปไตย กฎหมายต้องใช้บังคับได้ แม้จะอ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ชอบ แต่ต้องตีความกฎหมายให้เกิดผลบังคับใช้ได้ ให้คงอยู่เป็นรัฐ มิฉะนั้นบ้านเมืองจะเสียหาย การยึดอำนาจในขณะนั้น คสช. ใช้อำนาจเป็นรัฐฐาธิปัตย์ แม้ว่าการได้มาซึ่งอำนาจจะไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย ก็เป็นกรณีว่ากล่าวกันในด้านอื่น คสช.มีอำนาจในเชิงข้อเท็จจริง ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวจึงมีสภาพเป็นกฎหมาย ตามที่มาตรา 48 ได้บัญญัติไว้ และต่อมารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 279 ก็ได้รับรอง การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงพ้นผิดโดยสิ้นเชิง

ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าการยกฟ้องโดยไม่มีการไต่สวนมูลฟ้องเพื่อวินิจฉัยมูลคดีก่อนประทับฟ้อง เป็นการข้ามขั้นตอนนั้น ศาลเห็นว่าการยกฟ้องไม่จำเป็นต้องไต่สวนเพื่อรับไว้พิจารณาเสมอไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เมื่อเห็นว่าจำเลยพ้นความรับผิด ศาลสั่งยกฟ้องได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องไต่สวน ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนยกฟ้อง

80%
Awesome
  • Design
Comments
Loading...