สมเด็จพระสังฆราชประทานคณะทูตานุทูตเข้าเฝ้า

สมเด็จพระสังฆราชประทานคณะทูตานุทูตเข้าเฝ้า

536

12 ตุลาคม 2561 เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จลงพระวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ประทานพระวโรกาสให้ทูตานุทูตจากประเทศที่มีผู้นับถือพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมากในประเทศ ได้แก่ เอกอัครราชทูตภูฏาน เอกอัครราชทูตกัมพูชา อุปทูตอินเดีย ที่ปรึกษาเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น เอกอัครราชทูตมองโกเลีย เอกอัครราชทูตเนปาล เอกอัครราชทูตสิงคโปร์ เอกอัครราชทูตศรีลังกา และเอกอัครราชทูตเวียดนาม พร้อมด้วยคณะ เฝ้าถวายสักการะและกราบทูลลา เนื่องในโอกาสที่พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ในประเทศไทย

โอกาสนี้ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระสัมโมทนียกถา ความตอนหนึ่งว่า

“ท่านทั้งหลายล้วนมาจากประเทศที่มีผู้นับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลัก หรือศาสนาสำคัญของประเทศย่อมมีโอกาสจะเข้าถึงพระธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และย่อมตระหนักในคุณธรรมพื้นฐานของการเป็นผู้ประเสริฐที่เรียกว่าพรหมวิหารธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อแรก คือ ‘เมตตา’

ความปรารถนาดี มุ่งดีมุ่งเจริญต่อกันนั้น เป็นคุณธรรมที่ท่านในฐานะนักการทูต และในฐานะผู้ปรารถนาสันติสุขในหมู่มวลมนุษยชาติ จำเป็นต้องมีเป็นประการแรก ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ต้องอาศัยไมตรีจิตอันจริงใจต่อกันเป็นพื้นฐานของการดำเนินความสัมพันธ์ในทุกแง่มุม

ผู้มีไมตรีจิตต่อกันอย่างจริงใจ ย่อมได้ชื่อว่าเป็น ‘มิตร’ และมิตรแท้ย่อมจะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เป็นห่วงทุกข์สุขของกันและกันอยู่เสมอ มิตรย่อมคิดถึงกัน ไม่ทอดทิ้งกัน และสามารถผดุงคุณธรรมความดีงามอื่นๆ ที่พึงมีต่อกัน โดยเฉพาะสามัคคีธรรมในหมู่มวลมนุษยชาติ ที่พึงรักษาไว้ให้มั่นคง ไม่ควรให้หวั่นไหวคลอนแคลน

ถ้าบุคคลรักษาน้ำใจไมตรีอย่างเสมอภาคต่อทุกคนไว้ได้ สันติภาพย่อมบังเกิดขึ้น และบุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายมิตรนั้น ก็ย่อมได้รับการยกย่องบูชาในที่ทุกสถาน สมดังที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสั่งสอนไว้ว่า ‘สพฺพตฺถ ปูชิโต โหติ โย มิตฺตานํ น ทุพฺภติ.’ แปลความว่า ‘ผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร ย่อมมีผู้บูชาในที่ทั้งปวง.’

ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติใด เผ่าพันธุ์ใด นับถือศาสนา นิกาย หรือลัทธิความเชื่อใด พึงมีความเป็นมิตรไม่จำกัดว่าต้องเป็นชนชาติเดียวกัน หรือต้องเป็นศาสนิกชนเดียวกันเท่านั้นจึงจะเลือกแผ่เมตตาจิตไปให้ ความนึกคิดเลือกเมตตานั้นแปลว่าไม่อาจเข้าถึงการครองเมตตาธรรมที่ถูกต้อง

เมตตาธรรมที่แท้ต้องประกอบด้วยอุเบกขาธรรมเข้ากำกับ คือเป็นความปรารถนาดีอย่างเสมอภาค อย่างเป็นกลาง อย่างไม่มีประมาณ บุคคลผู้เจริญเมตตาไม่มีประมาณ จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ประเสริฐดุจพรหม ที่เรียกว่าเป็นผู้มีพรหมวิหารธรรม

การที่ท่านทั้งหลายผู้เป็นทูตจากประเทศที่มีผู้นับถือพระพุทธศาสนาจำนวนมาก ได้มาแสดงไมตรีจิตต่ออาตมภาพ ในโอกาสที่ท่านจะจากประเทศไทยไป ในนามของพุทธบริษัทชาวไทย อาตมภาพขอแสดงความปรารถนาดีด้วยไมตรีจิตตอบแทน

และขอให้นำความปรารถนาดีจากชาวไทย ไปแจ้งให้มวลมิตรในประเทศของท่านทราบโดยทั่วกัน ว่าชาวไทยได้แผ่เมตตาอย่างไม่มีประมาณไปยังทุกท่านเสมอ แม้อยู่ห่างไกลกัน ที่เป็นเช่นนี้เพราะเรามีพระพุทธศาสนาคอยหล่อเลี้ยงน้ำใจ ทำให้มิตรภาพสามารถเชื่อมสนิทถึงกันได้ ขอท่านทูตอย่าลืมมิตรภาพจากใจจริง ที่ประเทศไทยมีต่อท่านเสมอ”

 

80%
Awesome
  • Design
Source สนง.เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช
Comments
Loading...