พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โพสต์ผ่านเฟสบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ว่า
พี่น้องประชาชนที่รักครับ
ช่วงเช้านี้ ผมได้มีโอกาสหารือกับผู้ก่อตั้งและผู้บริหารระดับสูง บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี จำกัด ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล เพื่อแสวงหาความร่วมมือเพิ่มเติม และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทยในอนาคต ตามนโยบายการนำพาประเทศไทย เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ที่ได้ประกาศไว้ตั้งแต่ปี 2560
โดยการหารือในครั้งนี้ ก็จะเป็นอีกก้าวสำคัญในการผลักดันให้ไทย สามารถก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในระบบ 5G ของภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งการเป็นศูนย์กลางด้าน Data Centers และการให้บริการ Cloud Services สำหรับทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ภาครัฐบาล และภาคธุรกิจเอกชนทั้งของไทยและต่างประเทศด้วย
ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการเตรียมความพร้อม เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และสร้างระบบนิเวศด้านดิจิทัล เพื่อการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล และ “ไทยแลนด์ 4.0” อย่างครอบคลุม ได้แก่
- การติดตั้ง “เน็ตประชารัฐ” เพื่อประชาชนทุกหมู่บ้าน
- การขยายความจุโครงข่ายระบบเคเบิ้ลใต้น้ำ เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในประเทศและระหว่างประเทศ
- การตั้งศูนย์ทดสอบ 5G และ “ไทยแลนด์ดิจิทัลวัลเลย์” ในพื้นที่ EEC เพื่อเป็นพื้นที่สร้างนวัตกรรมแห่งอนาคตของ Digital Startup และภาคธุรกิจ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
เป็นต้น
ผมมีความยินดีที่จะแจ้งให้พี่น้องประชาชนทราบว่า การเจรจานั้นเป็นไปได้อย่างดียิ่ง โดยก่อให้ เกิดโอกาสในการสร้างความร่วมมือกันหลายด้าน เพื่อเติมเต็มการขับเคลื่อนของรัฐบาลและภาคเอกชนของไทย ที่ได้หารือกันในวันนี้ เช่น
- การส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุกมิติ ทั้งการแพทย์ การศึกษา การค้า ธุรกิจบริการ ท่องเที่ยว การเงิน การเกษตรและอุตสาหกรรมต่างๆ
- การพัฒนา Cloud Platform สำหรับทุกภาคส่วนได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งต้องเป็นการลงทุนระยะยาวและต่อเนื่อง
- การอบรม บ่มเพาะ และเร่งพัฒนาบุคลากรดิจิทัล นวัตกร และผู้ประกอบการ Startup ให้เป็น “เมล็ดพันธุ์แห่งอนาคต” (Seeds for the Future)
- การพัฒนา Smart port และ Smart airport โดยการนำเทคโนโลยี 5G และปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) มาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ
เป็นต้น
นอกจากนี้ เรายังได้มีการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และการส่งเสริมอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ และพลังงานสะอาดอีกด้วย ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลไทยได้ผลักดันในเวทีระหว่างประเทศทุกครั้ง รวมทั้งในฐานะเจ้าภาพการประชุม APEC ในปัจจุบัน
ในการประชุม ผมได้หยิบยกความสำคัญของการพัฒนา “ทรัพยากรมนุษย์” ที่จะต้องมีการให้ความรู้และเสริมทักษะ อย่างเป็นระบบ ให้ตรงกับความต้องการพัฒนาประเทศ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือ 3 ฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของไทยมาโดยตลอด
ที่ผ่านมารัฐบาลได้สร้างความร่วมมือกับหลายบริษัท ที่มีศักยภาพ มีความพร้อม และยินดีที่จะร่วมมือกับทุกบริษัท ที่มีอุดมการณ์เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ ในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป้าหมายสุดท้าย คือ การส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน เพิ่มศักยภาพของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม อีกทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในเวทีโลก ให้เห็นผลโดยเร็ว เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนทุกคนด้วยครับ
พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
Cr.ภาพจาก https://consumer.huawei.com/th